ปี 2566-2567 ภูมิทัศน์สื่อยังเป็นโจทย์ท้าทายยิ่งขึ้น เพราะจะเห็นการแตกกระจายของ “แพลตฟอร์มสื่อ”
ผ่านพ้นปี 2565 ด้วยเม็ดเงินโฆษณาที่ “โตต่ำ” กว่าคาดการณ์ เงินสะพัดราว 82,300 ล้านบาท ขยายตัว 8.1% จากความหวังเดิม ควรจะฟื้นตัวอัตรา 2 หลัก แต่ด้วยเหตุการณ์ไม่คาดคิดระหว่างทาง ซ้ำเติมเป็นระลอก ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันเงินเฟ้อ ข้าวของแพง ฯมีผลต่อแบรนด์ใช้งบโฆษณาผ่านสื่อทั้งสิ้น
ทว่า ปี 2566-2567 ภูมิทัศน์สื่อยังเป็นโจทย์ท้าทายยิ่งขึ้น เพราะจะเห็นการแตกกระจายของ “แพลตฟอร์มสื่อ” โดยเฉพาะออนไลน์ ทำให้โลกการสื่อสารซับซ้อนและยากในการเจาะกลุ่มเป้าหมายอย่างแม่นยำ
“เอ็มไอ กรุ๊ป” ตกผลึกคัมภีร์พฤติกรรมผู้บริโภคในการเสพสื่อ เพื่อให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ “เอสเอ็มอี” ตลอดจนนักการตลาดต้องรู้ไว้ เพื่อทลายวิกฤติ ไม่เพียงโควิด-19 แต่รวมถึงความไม่แน่นอนในอนาคต เพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ
ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัดหรือเอ็มไอ กรุ๊ป ฉายภาพรวมประชากรชาวไทยหรือผู้บริโภคมีราว 67.02 ล้านราย จาก 27.19 ล้านครัวเรือน โดยผู้คนกำลังเข้าสู่ “สังคมสูงอายุ” มากขึ้น เจนเนอเรชั่นใหม่ๆมีอัตราที่จะลดน้อยถอยหลัง ตามอัตราการเกิดที่ลดลง กลายเป็น “ตัวแปร” ต่อการบริโภคสื่อทั้งออฟไลน์ อย่างทีวี และออนไลน์ด้วย
ขณะที่ช่วงวิกฤติโควิดระบาด ยังพลิกการเสพสื่อ เกิดปฏิกิริยา “เร่ง” ให้สื่อออนไลน์โตร้อนแรงมากขึ้น ทว่า หลังสถานการณ์คลี่คลาย บริบทสื่อเปลี่ยนแปลงอีกเช่นกัน
หากมองภาพใหญ่ 3 สื่อทรงอิทธิพล ยังเป็น “ทีวี-ออนไลน์-สื่อนอกบ้าน” แต่ก่อนและหลังโควิด เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เมื่อคนดูทีวี 80% ออนไลน์ 70% และสื่อนอกบ้าน 35% แต่หลังโรคระบาดคนดูทีวีลดเหลือ 75% ออนไลน์ 80% และสื่อนอกบ้าน 35% ที่น่าสนใจคือคนไทย 26 ล้านคน หรือราว 1 ใน 3 เสพคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์(OTT) หรือสตรีมมิ่งมากขึ้น และมีคนไทย 18 ล้านคน เข้าถึงแพลตฟอร์มโอทีที นอกจากนี้ 71% ยอมดูแพลตฟอร์มที่มีโฆษณาด้วย และ 92% คนไทยดูคอนเทนต์ผ่านสื่อมากกว่า 1 แพลตฟอร์ม สะท้อนภาพชิง “eyeball” และเวลาของผู้บริโภคยังเข้มข้น
ขณะที่แพลตฟอร์มออนไลน์มีหลากหลาย น้องใหม่เกิดขึ้นชิงนาทีทองของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสถานการณ์ผู้ใช้งานสื่อต่างๆประจำ(Active User) เป็นดังนี้ Facebook 44 ล้านราย โดยกลุ่มอายุใช้งาน Youtubeมีผู้ใช้งาน 38 ล้านราย ทุกกลุ่มเช่นกัน Instagram 23 ล้านราย ฐานใหญ่อายุ 18-35 ปี Twitter 8 ล้านราย กลุ่มอายุ 16-29 ปี Line 50 ล้านราย ทุกอายุใช้งาน และTikTok 27 ล้านราย กลุ่มอายุ 18-35 ปี
“คนรุ่นใหม่ใช้งานเฟซบุ๊กน้อยลง ฟังก์ชั่นการใช้งานเพื่ออัพเดทข้อมูลข่าวสาร ส่วนหนึ่งเพราะผู้ปกครองเริ่มใช้งานเพื่อส่องบุตรหลาน รวมถึงอัลกอริธึ่มที่เปลี่ยน ทำให้แบรนด์ทำกิจกรรมตลาดน้อยลง เพราะเอ็นเกจเมนต์ต่ำ ส่วนติ๊กต๊อก นอกจากฐานเดิมคือวัยรุ่น ปัจจุบันขยายสู่กลุ่มอายุ 35-44 ปี มากขึ้น โดยมีวิดีโอสั้น ความบันเทิงดึงดูดผู้ใช้งาน” แนะนำข่าวเพิ่มเติม>>> “บทสรุป” จากงาน “SX 2022” ประเทศไทย “พร้อม” เดินหน้า